วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

หากพูดถึง “Graffiti” ใครหลายคนอาจจะร้องยี้ เพราะงาน “Graffiti” นั้นไม่ใช่ศิลปะที่มีกลุ่มคนชั้นสูงให้ความยอมรับซักเท่าไหร่นัก บางคนอาจจะมองว่าเป็นศิลปะขยะ เป็นศิลปะที่ไว้สำหรับปลดปล่อยอารมณ์ของพวกวัยรุ่นขี้ยาเท่านั้น แต่สำหรับพวก Writer (นักเขียน) หรือผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้สรรค์สร้างศิลปะบนผืนกำแพง บนท้องถนน บนรถเมล์ รถไฟ หรือที่ไหนๆ ก็ตามบนท้องถนน “Graffiti” ที่พวกเขารู้จักนั้น มันเป็นมากกว่าศิลปะเรามาค่อยๆ ทำความรู้จักกันนะครับ ว่า “Graffiti” คืออะไร สำหรับคำว่า “Graffiti” นั้นหมายถึง "ภาพวาดที่เกิดจากการขีดเขียนหรือการขูดขีดไปบนผนัง" เป็นศัพท์ที่มาจากภาษากรีก คือคำว่า graphein ที่แปลว่า "การเขียน"และคำว่า "graffiti" โดยตัวของมันเองเป็นคำพหูพจน์ของคำว่า "graffito" ในภาษาอิตาเลียนจากหนังสือ Freight Train Graffiti ให้คำนิยาม ว่า "กราฟฟิตีถือเป็นวัฒนธรรมนอกกระแสที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของความเป็น ขบถ ราวกับว่ามันก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซ่าน เป็นสุข เมื่อยามที่ศิลปินกราฟฟิตีได้ท้าทายต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามกีดกัน กำจัดกราฟฟิตีให้หมดไป"กราฟฟิตีเริ่มต้นขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟียในช่วงทศวรรษที่ 60 สาเหตุการเกิดของกราฟฟิตีนั้น ในยุคสมัยที่การเหยียดสีผิวเป็นไปอย่างเข้มข้น พวกพี่มืดในอเมริกาต่างลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ในหลักของสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งเกิดการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิพลเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1964 แต่ว่าคนผิวสีก็ยังตกอยู่ในสภาพคนชายขอบของสังคม ดังนั้นจึงได้เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งเพลงบลูส์ แจ๊ซ และเร้กเก้ และอีกด้านหนึ่งของคนผิวสีที่ต้องเผชิญ หรือรวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนยากจน พวกเขาได้แสดงออกมาอย่างเกรี้ยวกราด ดิบหยาบ ประกาศให้เห็นถึงความ ขบถ ดังเช่น ดนตรี Rap ที่เต็มไปด้วยคำด่าทอสังคมอย่างไม่เกรงกลัว กราฟฟิตี และดนตรี Hip hop จึงถือกำเนิดมาในยุคสมัยนี้ และเหตุการณ์นี้ยังสามารถอธิบายได้ถึง สังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่มีความไม่เสมอภาคกัน และกราฟฟิตีก็จะถูกมองว่าเป็น "การแสดงออกส่วนบุคคลที่เกิดจากความคับแค้นใจและต้องการอิสรภาพ" ด้วยแต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ถ้าพวกพี่มืดเห็นว่าศิลปะกราฟฟิตี รวมถึงดนตรี Hip hop เป็นการระบายออกซึ่งอารมณ์ขุ่นมัว และเกลียดชังสังคมในจิตใจ นับตั้งแต่ความนิยมของกราฟฟิตีได้เริ่มขึ้นในปลายปี 60 การต่อต้านก็มีขึ้นทันทีกราฟฟิตีถูกมองว่าเป็นคำที่หมายถึงความเสียหาย เป็นสัญลักษณ์และความเสื่อมทรามของสังคมมีคนกล่าวว่า "เราคิดว่ากราฟฟิตีเป็นการทำลายล้าง พวกเขาคิดว่าพวกเขาเป็นศิลปินและมีสิทธิเต็มที่ในการพูดเพื่อแสดงออกในความเป็นตัวของตัวเอง และความเป็นศิลปะอย่างเต็มที่กราฟฟิตีจะดูดีสำหรับพวกเขาและเพื่อน ๆ ของเขา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะมองดูมันทุกๆวัน เพราะมันรกลูกตา สกปรก ป่าเถื่อน และปราศจากรสนิยมแต่หลังจากนั้นกราฟฟิตีก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น หลังจากถูกเหยียดหยามให้เป็นศิลปะที่มีคนพูดถึงน้อยที่สุด คำถามต่อมาก็คือ เป็นเพราะความรุนแรงของมันใช่ไหม และเนื่องมาจากการทำผิดกฎหมายบนท้องถนน หรือข้างๆรถไฟใช่หรือไม่ และถ้าศิลปะที่ว่านี้อยู่บนผืนผ้าใบบนกำแพง หรือมีการโฆษณาที่ถูกต้องสมเหตุสมผลหนุนหลังอยู่ล่ะ อะไรคือความแตกต่างระหว่าง "ศิลปะ" กับ "ศิลปะที่แสดงถึงความรุนแรงดังกล่าว"ถ้าจะพูดอีกอย่างกราฟฟิตีได้รับการตีตราว่าเป็นเรื่องของการทำลาย และเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธจากสังคม แต่ถ้าโชคชะตาเล่นตลกให้มันไปอยู่ในโลกของงานศิลปะ เพื่อที่จะให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นล่ะ มีคนกล่าวไว้ว่า "มันเป็นอุบายที่จะเรียกกราฟฟิตีว่าเป็นศิลปะ ทั้งๆที่มันเกิดขึ้นนอกเหนือระบบของการกำเนิดงานศิลปะ ดังนั้นถ้าคุณเอางาน กราฟฟิตีไปแสดงในแกลลอรี่ มันก็ไม่ต่างไปจากการเอาสัตว์ไปใส่ไว้ในกรงขัง"
"กราฟฟิตีเป็นสิ่งที่มีความหมายและยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกนำไปเป็นสินค้า" แต่ในแวดวงศิลปะก็มีข้อโต้แย้งเช่นกัน พิจารณาจากสังคมที่เราได้อาศัยอยู่ มันถูกจับตามองว่า กราฟฟิตีสามารถขายได้ในโดยบางวิธี นั่นคือจัดระบบการตลาดให้กับสินค้าประเภทนี้ ยังมีคนกล่าวอีกว่า "กราฟฟิตีเป็นผลผลิตของความบาปจากเหล่าซาตาน (ความยากจน) แต่พระผู้เป็นเจ้า (ทุนนิยม) กำลังนำมันไปใช้ และเปลี่ยนมันให้เป็นบุญ"นักเขียนบางคนได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโฆษณา เกาะเกี่ยวไปยังพื้นที่ ๆ ได้ถูกจัดสรรค์ไว้ให้ "ศิลปะดิบ ๆ ของพวกผู้ก่อการร้าย" เป็นคำนิยามใหม่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง "ความถูกต้องตามกฎหมายในโลกของโฆษณา" และ "เรื่องที่ผิดกฎหมายในโลกของกราฟฟิตี"ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องขอยกความดีความชอบให้กับคุณพี่ "ทากิ" ไรเตอร์ชื่อดัง ที่เป็นผู้ริเริ่มมือบอน เอ๊ย..ไม่ใช่ เป็นผู้เริ่มศิลปะบนกำแพงในปี ค.ศ. 1969 จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นยุคสมัยของเหล่าไรเตอร์หรือนักเขียนกราฟฟิตีโดยแท้จริง เมื่อคำว่า TAKI 183 ของเขา ได้รับการสัมภาษณ์และเปิดเผย ตีพิมพ์ภาพลายเซ็นของเขาในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส คำว่า TAKI 183 ที่เขาเขียนปรากฏให้เห็นทั้งในรถไฟใต้ดินและสถานที่สำคัญอย่างบรอดเวย์ สนามบินเคนเนดี รวมทั้งที่ต่าง ๆ ทั้งในนิวเจอร์ซีย์ คอนเนตทิคัต และสถานที่อื่น ๆ ทั่วนิวยอร์ก





ทุกวันนี้กราฟฟิตีพัฒนากลายเป็นแฟชั่นที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ทั้งลวดลายแท็กที่พบตามเสื้อผ้าแนวสตรีตอาร์ตไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบ ไปจนถึงมิวสิกวิดีโอโดยศิลปิน Hip Hop ในเอ็มทีวี ซึ่งมักมีภาพกราฟฟิตีปรากฏเป็นแบ็กกราวด์

"Tag" คือการเซ็นลายเซ็นหรือนามแฝงของแต่ละคนโดยสเปรย์กระป๋อง หรือ ปากกา ส่วนมากใช้สีเดียว บางคนอาจพ่นเป็นตัวอักษรธรรมดา ขณะที่บางคนดีไซน์ให้เป็นตัวอักษรที่เกาะเกี่ยวกันจนอ่านไม่ออก เน้นให้ดูแปลกและสะดุดตา


"Throw-ups" คือการเขียนเร็ว ๆ ด้วยสีพื้นฐาน จำนวนน้อยสีนิยมใช้สีขาวดำ แสดงให้เห็นเส้นสายที่รวดเร็ว เป็นการเขียนตัวอักษรน้อยตัว มีเส้นตัดขอบเพื่อให้ดูมีมิติ ไม่เน้นความสวยงาม เพราะต้องทำแข่งกับเวลา






"Fill-in" หรือ "Piece" คือ "Throw-ups" ที่ซับซ้อนขึ้น เป็นผลงานของไรเตอร์คนเดียว เป็นการพ่นสีสเปรย์ให้เป็นภาพหรือตัวอักษรที่สวยงาม ใช้เวลานานในการสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์







"Block" หรือ "Bubble" การเขียน Tag ที่ดูมีมิติมากขึ้น ใช้สีประมาณ 3 สี หรือมากกว่านั้น







"Wild style" หรือ "Wicked style" เป็นสไตล์ที่ซับซ้อนขึ้น มีการเกาะเกี่ยวกันของตัวหนังสือ ลักษณะการเขียนประเภทนี้จะอ่านค่อนข้างยาก เพื่อแสดงความเหนือชั้นของการดีไซน์





"Blockbuster" คือ "Fill-in" งานเขียนที่ตั้งใจเขียนทั้งผนัง








"Character" คือการพ่นเป็นรูปคน หรือ คาแร็กเตอร์ต่าง ๆ ไม่วาจะเป็นตัวการ์ตูน หรือเป็นภาพเสมือนจริงของดารานักร้องในดวงใจ หรืออาจเป็นตัวการ์ตูนที่ไรเตอร์ออกแบบเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของไรเตอร์คนนั้น ๆ






"Production" คือ การรวมกราฟฟิตีทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน เกิดจากการรวมที่ไรเตอร์หลายคนหรือหลายกลุ่มนัดกันสร้างผลงานร่วมกัน โดยมีธีมไปในทิศทางเดียวกันหรือสอดคล้องกัน เช่น นัดกันพ่นคาแร็กเตอร์ประจำตัวของไรเตอร์แต่ละคนหรือพ่นชื่อกลุ่ม ชื่อตัวเอง หรือเปล่าไรเตอร์อาจร่วมกันกำหนดวาระต่าง ๆ ขึ้นเอง